JMT เปิดแผนหลังระดม ทุนขยายพอร์ต สินเชื่อรุกซื้อ NPA
นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอ็มที เน็ตเวิร์คเซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยว่า คาดว่าจะสามารถขายหุ้น IPO ของบริษัท จำนวน 75 ล้านหุ้นได้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะสามารถนำหุ้นเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยหุ้นจำนวน 75 ล้านหุ้นจะแบ่งเป็นการขายให้กับผู้ถือ หุ้นเดิม 45 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นใหม่ 30 ล้านหุ้น ซึ่งหลังจาก JMT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว JMART ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท 100% จะเหลือสัดส่วนหุ้นใน JMT อยู่ที่ 75% โดยได้แต่งตั้งให้ บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับเงินที่ได้จากการขาย IPO ในครั้งนี้ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนโดยส่วนแรกจะนำไป ลงทุนในการซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มอีกประมาณ 5 พันล้านบาท เป็นวงเงินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 56 ตั้งเป้าซื้อหนี้เพิ่มให้เป็น 3.5 หมื่นล้านบาท และปี 57 ตั้งเป้าซื้อหนี้เพิ่มให้เป็น 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ 2 จะนำไปปล่อยสินเชื่อรถยนต์ และสุดท้ายจะนำไปคืนหนี้ก้อนเดิมขณะที่ นโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิซึ่งบริษัทได้จ่ายปันผล งวดครึ่งปีแรกไปแล้ว และหลังจากเข้าตลาดฯ คาดว่าจะสามารถจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลังได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ธุรกิจของบริษัทแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ การรับจ้างติดตามหนี้ การซื้อหนี้ เสียจากแบงก์และ นอนแบงก์มาบริหาร และการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีพอร์ตใน 2 ส่วนแรกอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และพอร์ตการปล่อยสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท
“ธุรกิจของบริษัทคือธุรกิจติดตามเร่งรัดหนี้สิน โดยเป็นธุรกิจรับจ้างตามหนี้ประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และซื้อหนี้มาบริหารเองประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีปล่อยสินเชื่อไปประมาณ 200 คัน วงเงิน 3.5 แสนบาทต่อคัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.5-13% ขึ้นอยู่กับอายุของรถ” นายปิยะ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะเดินหน้ารุกธุรกิจซื้อหนี้ NPA ซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน มาบริหาร โดยอาจจะต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าวด้วยโดยจะเริ่มจากการซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมที่มีราคา 1-2 ล้านบาทมารีโนเวตใหม่และขายเข้าตลาด คล้ายกับธุรกิจของ บสก. แต่บริษัทจะลงมาที่ธุรกิจรายย่อย ซึ่งธุรกิจนี้อาจจะต้องใช้ต้นทุนสูง ดังนั้น บริษัทจึงอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม
“ต้นทุนการซื้อหนี้ของบริษัทคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5% ของก้อนมูลหนี้ทั้งหมด เช่น มูลหนี้อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เงินที่ใช้ซื้อจะคิดเป็น 5% ของมูลหนี้ 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจ ซื้อหนี้มาบริหารยังโตได้ต่อเนื่องจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศ ไทยที่ระบุว่า มูลหนี้เสียมีวงเงินรวม 4.7 หมื่นล้านล้านบาท แต่เรามีพอร์ตแค่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอนาคตก็น่าจะโตได้อีกมาก และเชื่อว่าหลังจากที่บริษัทเข้าตลาดฯ ก็จะสามารถซื้อหนี้จากธนาคารมาบริหารได้มากกว่าเดิม” นายปิยะ กล่าว